บุญชู ผู้น่ารัก (2531-2538) 8ภาค (6 ตอน) ทำรายได้ไปกว่า 131.6 ล้านบาท
บุญชู ผู้น่ารัก (2531)
บุญชู 2 น้องใหม่ (2532)
บุญชู 5 เนื้อหอม (2533)
บุญชู 6 โลกนี้ดีออก สุดสวย น่ารักน่าอยู่ ถ้าหงุ่ย (2534)
บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ (2536)
บุญชู 8 เพื่อเธอ (2538)
กำกับ : บัณฑิต ฤทธิ์ถกล
นักแสดง : สันติสุข พรหมศิริ, จินตหรา สุขพัฒน์, เกียรติ กิจเจริญ, วัชระ ปานเอี่ยม, อรุณ ภาวิไล, กฤษณ์ ศุกระมงคล,
ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ, เกรียงไกร อมาตยกุล, สมเกียรติ คุณานิธิพงศ์
ศิลปินวาดใบปิดหนัง : ทองดี ภานุมาศ
บุญชู เป็นภาพยนตร์ไทย ประเภทหนังตลกขบขัน ที่มีการสร้างถึง 8 ครั้ง 10 ภาค ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531–พ.ศ. 2553 สร้างโดยไฟว์สตาร์ โปรดักชั่นโดย 7 ภาคแรก กำกับภาพยนตร์และเขียนบทภาพยนตร์โดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกลโดยมี สันติสุข พรหมศิริ และ จินตหรา สุขพัฒน์ แสดงนำ โดยเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมสูงสุดในยุคนั้น
นอกจากนั้นภาพยนตร์ชุดบุญชูที่สร้างภาคต่อๆ มาถึง 6 เรื่อง ก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นภาพยนตร์ซึ่งได้รับความนิยมทำรายได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกภาค ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ บัณฑิตก็กลายเป็นคนทำหนังร่วมสมัยที่มีหนังทำเงินและหนังคุณภาพมากที่สุด ระหว่างปี 2531-2538 และสามารถคว้ารางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาภาพยนตร์ยอดนิยม ติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน
ภาพยนตร์ชุดบุญชูอย่างเรื่อง บุญชูผู้น่ารัก ยังเป็นหนี่งในภาพยนตร์ไทย 100 เรื่องที่คนไทยควรดู และหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 3
ภาคสุดท้ายของบุญชู มีชื่อเรื่องว่า บุญชู จะอยู่ในใจเสมอ ฉายในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้กำกับภาพยนตร์เป็น เกียรติ กิจเจริญ หนึ่งในกลุ่มนักแสดงบุญชูซึ่งร่วมงานมาทุกภาค
ภาค 1-5 : ช่วงศึกษา
เรื่องราวของ “บุญชู” เริ่มขึ้นเมื่อ บุญชู บ้านโข้ง (สันติสุข พรหมศิริ) หนุ่มสุพรรณฯ เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครพร้อมกับ บัวลอย (กัญญาลักษ์ บำรุงรักษ์)หลานสาวซึ่งเป็นลูกสาวของ บุญช่วย (นิรุตติ์ ศิริจรรยา ในภาคแรกก่อนจะเปลี่ยนเป็น สุเทพ ประยูรพิทักษ์ ในภาค 2) พี่ชายของเขาเพื่อเรียนกวดวิชาและสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยได้พบกับเพื่อนใหม่จากต่างถิ่น และ โมลี (จินตหรา สุขพัฒน์) สาวน้อยผู้น่ารัก จนเมื่อผลสอบเข้าไม่ผ่าน บุญชูจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด และกลับมากรุงเทพมหานครอีกครั้งโดยช่วยงานที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นจึงขอสอบใหม่อีกครั้ง ผลปรากฏว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยในช่วงกำลังศึกษา บุญชูเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ ร่วมสถาบัน เคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานนักศึกษาแต่ก็ไม่ได้รับเลือก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
ภาค 6-8 : ช่วงทำงาน
โมลีต้องการให้บุญชูทำงานในกรุงเทพมหานคร แต่บุญชูทนไม่ไหวกับสภาพความหนาแน่นของผู้คนที่พากันแย่งก็เลยตัดสินใจกลับบ้านเกิด โดยไปเป็นพ่อค้าขายข้าว ต่อมา บุญล้อม (จุรี โอศิริ) แม่ของบุญชูได้ยกบ้านริมน้ำให้เป็นเรือนหอกับโมลี แต่ มานี (ญาณี จงวิสุทธิ์ ในภาค 1-2 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นปรารถนา สัชฌุกร ในภาค 5) พี่สาวของเธอไม่ตกลงโดยยื่นคำขาดให้กำจัดน้ำเน่าเสียในคลองหน้าบ้านให้เป็นน้ำสะอาด มานีเห็นใจในความพยายาม จึงตัดสินใจให้โมลีแต่งงานกับบุญชู และอยู่ด้วยกันที่บ้านริมน้ำหลังนั้น จนได้ให้กำเนิดลูกชายคือ บุญโชค
ภาค 9-10 : ช่วงแห่งความเป็นพ่อ
เกือบ 20 ปีให้หลัง บุญโชค ลูกชายของบุญชูและโมลี โตเป็นหนุ่มแต่อยู่ในช่วงแห่งการศึกษาพระธรรม ขณะที่คุณพ่อซึ่งอาศัยอยู่ร้านขายของชำในจังหวัดบ้านเกิดก็ตั้งใจจะให้ลูกบวชไปเรื่อยๆ จนเป็นพระ แต่คุณแม่อยากให้เข้าเรียนและใช้ชีวิตปกติมากกว่า โมลีจึงแอบสึกเณรแล้วส่งเข้ากรุงเทพมหานครโดยไม่บอกบุญชู และฝากให้กลุ่มเพื่อนเก่าของบุญชูช่วยดูแล จนบุญโชคสามารถสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาแต่ผลก็คือไม่ได้เข้าสอบ อันเนื่องมาจากความวุ่นวายนั้นเอง จึงเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อพบพ่อแม่ และได้รับคำปลอบว่าจะเรียนอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดี เรื่องสอบยังไม่สาย บุญโชคจึงตั้งใจสอบใหม่อีกครั้งโดยมีความหวังคือเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อที่จะพบเพื่อนใหม่อย่างคาดไม่ถึง
รางวัล
บุญชูผู้น่ารัก : รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2531ภาพยนตร์ยอดนิยม
บุญชู 2 น้องใหม่ : รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2532 เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (จรัล มโนเพ็ชร และ ดำรงค์ ธรรมพิทักษ์)รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2532 ภาพยนตร์ยอดนิยม
บุญชู 5 เนื้อหอม : รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2533 ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (สุเทพ ประยูรพิทักษ์)
บุญชู 7 รักเธอคนเดียวตลอดกาลใครอย่าแตะ : รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 17 ประจำปี พ.ศ. 2536 ตุ๊กตาเงิน ภาพยนตร์ยอดนิยม
บุญชู 8 เพื่อเธอ : รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ครั้งที่ 19 ประจำปี พ.ศ. 2538 ผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (จารุณี สุขสวัสดิ์)
By Posterman